มีเศษสตางค์ที่เหลือจากค่าขนมไปฝากเจ้ากระปุกใบน้อยกันไหมเอ่ย*
เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนคงจะมีกระปุกออมสินกันอย่างน้อยคนละใบรออยู่ที่บ้าน
ของบางคนอาจจะหนักอึ้งขณะที่ของน้องๆ บางคนอาจจะเบาโหวง
ล่าสุดธนาคารออมสิน
จัดทำกระปุกออมสินรุ่นล่าสุดในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ
60 ปี
จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะไปค้นหาเรื่องราวของกระปุกออมสินที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารออม­สินมาฝากน้องๆ
กัน
ในวัยเด็กของคุณพ่อคุณแม่ ลุงคุณป้า คุณน้าคุณอา
ก็เคยมีกระปุกของตัวเองอย่างน้อยคนละ 1 ใบเช่นกัน
อาจจะเป็นกระปุกปูนปลาสเตอร์รูปสัตว์ต่างๆ
ที่ฮิตมากก็เห็นจะเป็นกระปุกหมูออมสิน นอกจากนี้ก็มีม้าลาย กระต่าย นก
หรือจะเป็นกระปุกกระดาษ กระปุกสังกะสี แล้วแต่ยุคสมัย ค่อยๆ
เก็บเงินมาหยอดกระปุกกันวันละเหรียญสองเหรียญพร้อมกับตั้งตารอว่าเมื่อไหร่หนอก­ระปุกของเราจะเต็มเสียที
จะได้เอาเงินไปฝากธนาคารออมสินด้วยตัวเองในวันพฤหัสบดีหรือวันเสาร์
เพราะมักจะได้ของติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปฏิทิน การ์ด
หรือกระปุกออมสินใบใหม่ กระปุกออมสินจึงมีด้วยกันมากมายหลายรุ่น
เมื่อน้องๆ ก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์
จะพบกับรูปปั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทรงเป็นผู้ก่อตั้งคลังออมสินเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2456 ณ
กรมพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยพระราชทานทุนก่อตั้ง 1 แสนบาท
เป็นทุนประเดิมของคลังออมสิน
ด้านซ้ายมือเป็นภาพถ่ายคณะผู้บริหารและผู้อำนวยการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ขวามือสำหรับผู้ชื่นชอบนาฬิกาโบราณที่มีแขวนไว้ให้ชมเต็มผนัง
ด้านล่างมีตู้กระจก 3 ใบ
และตู้ไม้ใบใหญ่จัดวางกระปุกออมสินทั้งของไทยและต่างประเทศจากทั่วโลก เช่น
อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ สวีเดน เรียงรายอวดโฉมอยู่
นอกจากนี้ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา
ทรงฝากเงินออมสินบนรถยนต์รับฝากเงินเคลื่อนที่ของธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 1
เมษายน พ.ศ.2505 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
พร้อมจัดแสดงสมุดเงินฝากของแต่ละพระองค์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ด้วย
*คุณลุงวีรวัฒน์ เศวตนันธานี* พนักงานปฏิบัติการ งานพัฒนาบุคลากร
ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ธนาคารออมสิน ซึ่งทำหน้าที่วิทยากร
เล่าที่มาของกระปุกออมสินว่า
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จฯ
ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและทอดพระเนตรการดำเนินงานคลังออมสิน เมื่อเสด็จฯ
กลับประเทศไทยจึงฝึกมหาดเล็กเด็กชายให้รู้จักเก็บออมเงินตั้งแต่ยังเด็ก
โดยทรงนำแบบอย่างตู้ไปรษณีย์โทรเลขริมฟุตปาธมาทำเป็นกระปุกออมสิน
กระปุกออมสินของไทยในยุคแรกจึงคล้ายคลึงกับประเทศอังกฤษ
แตกต่างกันตรงวัสดุที่ผลิตและราคา
กระป๋องออมสินรุ่นแรกที่จัดทำขึ้นจำลองจากแบบตู้ทิ้งจดหมายของกรมไปรษณีย์โทรเล­ข
วางจำหน่ายครั้งแรกวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2478 ราคาใบละ 10 สตางค์
ผลิตที่ประเทศอังกฤษ ทำด้วยโลหะสังกะสี และมีกระดาษปิดทับ
ด้านข้างมีคำกลอนเกี่ยวกับการออมเขียนไว้
รุ่นแรกนี้จัดทำขึ้นในยุคคลังออมสิน
มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนใช้สำหรับเก็บสะสมทรัพย์ และนำมาฝากคลังออมสิน
เรียกการรับฝากเงินประเภทนี้ว่า *"คลังออมสินสำหรับบ้าน"* หรือ Home Saving
Bank เมื่อกระปุกเต็มแล้วจะทุบออกโดยเจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนใบใหม่ให้
คุณลุงวีรวัฒน์เล่าต่อ พร้อมเปิดกระปุกออมสินรุ่นถัดมา
หน้าตาคล้ายรูปเล่มหนังสือ หรือสมุดเงินฝาก
ลักษณะเด่นของรุ่นนี้จะต้องใช้กุญแจไขจึงเปิดออก มีหลายสี เช่น แดง เหลือง ชมพู
ฟ้า ผลิตที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน จำหน่ายราคาใบละ 35 บาท
แต่ด้วยเหตุที่ราคาแพงมากจึงมีการรับซื้อคืนในเวลาต่อมา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธนาคารออมสินจัดทำกระป๋องออมสินขึ้นใหม่อีกครั้ง
และเริ่มจำหน่ายเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2499 ราคาใบละ 1 บาท
โดยระหว่างปีพ.ศ.2499-2504 ได้รับความนิยมมาก จำหน่ายได้มากกว่า 1 ล้านใบ
เป็นรูปทรงกระบอกเหมือนรุ่นแรกแต่มีขนาดเล็กกว่า
หลังจากนั้นได้จัดทำกระปุกออมสินในรูปแบบแปลกตาโดยใช้พลาสติกครั้งแรก
จัดทำเป็นรูปฟุตบอลมี 8 สี จำหน่ายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 ในราคา 1
บาท และแจกเป็นของขวัญวันเด็ก
ต่อมามีการจัดทำกระปุกออมสินออกจำหน่ายในวาระต่างๆ เป็นประจำ เช่น
กระป๋องออมสินตู้เซฟออมทรัพย์ ซึ่งออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมอย่างตู้เซฟเก็บเงิน
มีหลากสี เช่น เขียว เหลือง ฟ้า จัดทำเมื่อปีพ.ศ.2528 เพื่อฉลองครบรอบ 72
ปีธนาคารออมสิน
นอกจากนี้ยังมีกระป๋องออมสินอนุรักษ์ไทย
รูปแบบเป็นทรงกระป๋องมีภาพวาดตัวพระและตัวนางเพื่อร่วมอนุรักษ์ศิลปะการร่ายรำข­องไทย
พร้อมคำขวัญ รู้ประหยัด ไม่ขัดสน กลัวยากจน ฝากออมสิน จัดทำปีพ.ศ.2490
พลิกดูด้านใต้กระปุกจะพบข้อความว่า *
"สตางค์เต็มกระป๋องออมสินแล้วนำไปเปิดฝากเข้าบัญชีคลังออมสินสาขาใดก็ได้จะเปลี­่ยนให้ใหม่โดยไม่คิดมูลค่า"
*
ยังมีกระปุกออมสินให้ชมอีกมากมายหลายรุ่น สำหรับกระปุกออมสินรุ่นล่าสุด
คือกระปุกออมสินเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดทำขึ้น 6 แสนใบ
โดยต้องฝากเงิน 900 บาท จึงจะได้เป็นเจ้าของรับกระปุกกลับบ้านไป
ทุกใบจะมีหมายเลขกำกับไว้
น้องๆ ที่อยากเยี่ยมชมตำนานกระปุกออมสินที่พิพิธภัณฑ์ ติดต่อไปก่อนได้ที่
โทร.1115 หรือ 0-2299-8000 เปิดบริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.
ที่ตึก 72 ปี ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
กรุงเทพฯ
*คุณปู่กระปุกออมสินรอหลานๆ ไปเยี่ยมเยือน*
...
ผมมีใบที่เป็นหลักศิลาจารึกจำลอง จากธนาคารกรุงเทพ ไม่รู้เก่าแค่ใหนครับ เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เห็นมันอยู่ในบ้านแล้วอ่ะ
