โดย o_PAO » อาทิตย์ มิ.ย. 08, 2008 10:48 pm
อ่านสยามผ่านมรดกศิลป์"กาลิเลโอ คีนิ"
บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและพันธมิตร แถลงข่าวจัดงาน "The Galileo Chini Exhibition @ Central Chidlom 100 ปี มรดกศิลป์ "กาลิเลโอ คีนิ" จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม" เพื่อร่วมฉลอง 140 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตและการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทย-อิตาลี ผ่านศิลปะชิ้นล้ำค่า ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย
ศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ค้นคว้าชีวิตและผลงานของศิลปินเอกชื่อก้องมากว่า 16 ปี กล่าวว่า กาลิเลโอ คีนิ เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงยุคปลายศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 ทั้งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ให้รับหน้าที่เป็นจิตรกรผู้รังสรรค์งานศิลป์บริเวณเพดานโดมท้องพระโรง ในพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2454 ซึ่งถือว่าเป็นผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซ แทนที่เซซาเร เฟร์โร (Cesare Ferro) จิตรกรชาวอิตาเลียน ที่เขียนภาพจิตรกรรมพระที่นั่งอัมพรสถาน ด้วยไม่โปรดที่เงื่อนไขสัญญาว่าจ้างจึงมีราชโองการให้หาคนใหม่ ตามพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาธิการกระทรวงในขณะนั้น
ก่อนเดินทางมาเยือนเมืองสยาม กาลิเลโอ คีนิ ได้ฝากฝีมือเป็นภาพตกแต่งอาคารนิทรรศการ ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในงานเฉลิมฉลองราชอาณาจักรอิตาลี ครบครอบ 50 ปี เป็นภาพจิตรกรรมปูนเปียก ขนาด 1.3 เมตรไว้ที่กรุงโรม และการเดินทางไกลสู่สยามประเทศ ขณะลูกยังเล็กมาก ระหว่างทาง เขาได้บันทึกทั้งภาพเขียนและภาพถ่ายตลอดการเดินทาง ครั้นนั่งเรือมาถึงตรงกับปีแรกของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และทันร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีขึ้นในเดือนธันวาคม
ศ.ดร.หนึ่งฤดีกล่าวต่อว่า กาลิเลโอ คีนิ มีสัญญาจ้างให้เขียนภาพเป็นระยะเวลา 30 เดือน แต่คีนิเขียนเสร็จก่อนกำหนดในเวลาไม่ถึง 2 ปี และได้ค่าจ้างในสมัยนั้นราว 1.5 แสนฟรังก์ โดยภาพเขียนในท้องพระโรงนั้นเป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-6 ซึ่งทุกพระองค์ประทับนั่ง และหนึ่งในนั้นมีเพียงภาพเขียนของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพียงพระองค์เดียวที่ทรงประทับยืน มีภาพการเลิกทาส ความก้าวหน้าของราชอาณาจักรในการเปิดสู่ตะวันตก มีรูปเรือสำเภาและภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมขณะกำลังก่อสร้างอยู่เบื้องหลัง
หลังทำงานเสร็จภาพของคีนิมีการแก้ไข คือรูปองค์พระพุทธชินราชในภาพรัชกาลที่ 4 ทรงประทับเบื้องหน้าพระพุทธรูปและแวดล้อมด้วยเหล่านักบวชจากนิกายต่างๆ สื่อถึงพระองค์เป็นองค์ราชูปถัมภ์กับทุกศาสนาที่อยู่ในสยามโดยไม่แบ่งแยก จากภาพพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นปางมารวิชัย หนึ่งปีหลังจากคีนิกลับบ้านเกิด รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นายคาร์โล ริโกลิ ลูกศิษย์และผู้ช่วยของคีนิแก้ไขแทน ซึ่งต่อมาศิษย์ผู้นี้ได้ฝากฝีมือภาพวาดไว้ที่พระที่นั่งบรมพิมานและพระอุโบสถวัดราชาธิราช
สำหรับปัญหาที่พบในระหว่างการทำงาน 30 เดือนนั้นมีมาก หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน กล่าวว่า "คีนิเขียนในจดหมายส่งไปถึงครอบครัว 2-3 ฉบับว่า สยามเป็นเหมือนคำสาปในชีวิต เป็นภาษาอิตาเลียนตัดพ้อยาวมาก และมีหนึ่งฉบับบ่นถึงเจ้าพระยายมราชโดยตรง ขอประท้วงความล่าช้าในเรื่องข้อมูลหลายๆ อย่าง ทำให้เขาไม่สามารถเริ่มงานได้ เพราะคีนิไม่รู้จักประเทศไทยมาก่อน ซึ่งเป็นธรรมดาของการทำงาน ถ้าเป็นสมัยเรามีล่ามสะดวก แต่สมัยโน้นคีนิต้องห่างบ้านใช้เวลาไปกลับถึง 70 วัน และมีเรื่องร้อนใจหลายอย่าง ส่วนการทำงานปรับตัวเยอะแม้จะมีการปฏิรูปการปกครองแล้ว แต่กระทรวงต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง เพราะเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของเมืองไทยที่เราต้องเอาระบบการจัดราชการแผ่นดินมาใช้ ซึ่งเป็นธรรมดาของคนไม่รู้ที่ต้องบ่น แต่ทุกสิ่งที่คีนิเขียนผ่านสื่อ เขายกย่องประเทศไทยมาก และเขียนบันทึกไว้ว่า สยามมีอารยธรรม ซึ่งเป็นโลโก้ของเราที่ติดตัวในศิลปะของคีนิ คือภาพที่สง่างาม
ผลงานศิลปะจำนวนมากมายที่กาลิเลโอ คีนิ เขียนขึ้นระหว่างปีพ.ศ.2454-2456 ในช่วงที่ทำงานอยู่ในพระนคร เขาได้นำติดตัวกลับไปยังบ้านเกิด และปีถัดมาภาพเขียนจากเมืองสยามก็ได้ปรากฏต่อสายตามหาชนในยุโรปผ่านห้องแสดงงานศิลปะนานาชาติ ณ งานเวนิส เบียนนาเล
แม้ว่าคินีไม่ได้อยู่ที่สยาม แต่ผลงานของเขายังมีกลิ่นอายสยามประเทศ และยังอยู่ในความทรงจำที่สะท้อนออกมาผ่านผลงานการออกแบบฉากมหาอุปรากรเรื่องตูรันดอต (Turandot) ตามท้องเรื่องนั้นเกิดขึ้นในประเทศจีน แต่ในแบบร่างปรากฏร่องรอยของสิ่งที่เขาเคยสัมผัสในเมืองไทยให้เห็นได้ ผลงานชิ้นนี้จะนำมาจัดแสดงให้ชื่นชมในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
และที่พิเศษคือ มิสเปาลา โปลีโดริ คีนิ หลานสาวของกาลิเลโอ คีนิ ผู้สืบสานงานเซรามิคของตระกูลและรักษามรดกผลงานของคีนิไว้เป็นอย่างดี เห็นว่าเอกสารหลายอย่างของคีนิน่าจะเป็นประโยชน์กับเมืองไทยมากกว่า เธอจึงมอบสมบัติหลายชิ้นให้ประเทศไทย เช่น ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่กาลิเลโอ คีนิ นำไปจากเมืองสยาม โดยขอเก็บไว้เพียงภาพถ่ายของคุณปู่ภาพหนึ่ง ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1 และภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 6 สไตล์อาร์นูโวที่มีสีสันจัดจ้าน รวมถึงพิมพ์เขียวต้นฉบับพระที่นั่งอนันตสมาคม จำนวน 9 ชิ้น โดยพิมพ์เขียวชุดนี้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปีพ.ศ.2547 และในการจัดนิทรรศการครั้งนี้พระราชทานพระราชานุญาตให้นำออกจัดแสดงพร้อมกันด้วย
ร่วมชมความงามและสัมผัสอีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์สยามได้ในวันที่ 6 มิ.ย.-6 ก.ค. ที่ ดิ อีเวนต์ฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม
วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6385
